วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการเรียนรู้

         ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2546 : 29) ได้กล่าวว่า การดำรงชีวิตของเราในปัจจุบัน ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบเพื่อตัวเราเอง จะอยู่อย่างมีความสุขตามสภาพแวดล้อมของตน ส่วนหนึ่งของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมนั้น ก็คือ การเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่เพียงแต่การจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาอย่างมีระบบเท่านั้น แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกสภาพและทุกขณะ ตั้งแต่มนุษย์ลืมตาดูโลก เราก็เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว โดยการเริ่มจากสิ่งแวดล้อมภายในบ้านในครอบครัวก่อนอื่น โดยเด็กเล็กจะเริ่มรู้ว่า การร้องนั้นสามารถเรียกอาหาร นม และความเอาใจใส่จากแม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป เด็กจะเจริญเติบโตขึ้น มีวุฒิภาวะพร้อมที่จะทำกิจกรรมต่างๆตามความสามารถของตน

          พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา (2542 : 78) ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ (Learning) เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต การเรียนรู้จะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต หรือสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเราได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ และการประพฤติปฏิบัติของคนเราจะเป็นไปในรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้เป็นสำคัญ

          องุ่น จันทร์ขจร (2539 : 19) ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ได้มาจากการเรียนหนังสือในชั้นเรียน หรือการอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆเท่านั้น แต่การเรียนรู้อาจได้มาจากการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ การเดินทางท่องเที่ยว การพูดคุยกัน การอบรมสั่งสอนของครอบครัว เป็นต้น ดังนั้น การเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของคนเรา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้

         สรุป
         การเรียนรู้ไม่ใช่ว่าจะเกิดในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

        ที่มา
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2546). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา. (2542). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: พัฒนาศึกษา.
องุ่น จันทร์ขจร. (2539). สารัตถะสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ:
                 พัฒนาพานิช.

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้

         ประดินันท์ อุปรมัย (http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.html ) ได้กล่าวถึงความหมายของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม

         www.crc.ac.th/online/75107/psychology2.ppt ได้รวบรวมความหมายของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้   หมายถึง   การปรับเปลี่ยนทัศนคติแนวคิดและพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์   ซึ่งควรเป็นการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

          https://th.wikipedia.org/wiki/การเรียน.ได้รวบรวมความหมายของการเรียนรู้ไว้ว่า การได้รับความรู้ พฤติกรรม ทักษะ คุณค่า หรือความพึงใจ ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์สารสนเทศชนิดต่าง ๆ ผู้ประมวลทักษะของการเรียนรู้เป็นได้ทั้งมนุษย์ สัตว์ และเครื่องจักรบางชนิด ความก้าวหน้าในการเรียนรู้เมื่อเทียบกับเวลามีแนวโน้มเป็นเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (learning curve)

        สรุป
                  การเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการที่ทำให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านพฤติกรรมและความคิด การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ อาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่หรือเป็นการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

                ที่มา
 ประดินันท์ อุปรมัย. [Online] (http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.html).
         จิตวิทยาการเรียนรู้เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2558.
  www.crc.ac.th/online/75107/psychology2.ppt.การเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2558.
  https://th.wikipedia.org/wiki/การเรียน.การเรียนเข้าถึงเมื่อ 16 มิถุนายน 2558.