ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2546 : 29) ได้กล่าวว่า การดำรงชีวิตของเราในปัจจุบัน ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบเพื่อตัวเราเอง จะอยู่อย่างมีความสุขตามสภาพแวดล้อมของตน ส่วนหนึ่งของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมนั้น ก็คือ การเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่เพียงแต่การจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาอย่างมีระบบเท่านั้น แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกสภาพและทุกขณะ ตั้งแต่มนุษย์ลืมตาดูโลก เราก็เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว โดยการเริ่มจากสิ่งแวดล้อมภายในบ้านในครอบครัวก่อนอื่น โดยเด็กเล็กจะเริ่มรู้ว่า การร้องนั้นสามารถเรียกอาหาร นม และความเอาใจใส่จากแม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป เด็กจะเจริญเติบโตขึ้น มีวุฒิภาวะพร้อมที่จะทำกิจกรรมต่างๆตามความสามารถของตน
พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา (2542 : 78) ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ (Learning) เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต การเรียนรู้จะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต หรือสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเราได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ และการประพฤติปฏิบัติของคนเราจะเป็นไปในรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้เป็นสำคัญ
องุ่น จันทร์ขจร (2539 : 19) ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ได้มาจากการเรียนหนังสือในชั้นเรียน หรือการอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆเท่านั้น แต่การเรียนรู้อาจได้มาจากการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ การเดินทางท่องเที่ยว การพูดคุยกัน การอบรมสั่งสอนของครอบครัว เป็นต้น ดังนั้น การเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของคนเรา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
สรุป
การเรียนรู้ไม่ใช่ว่าจะเกิดในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นตลอดชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
ที่มา
ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์. (2546). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา. (2542). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: พัฒนาศึกษา.
องุ่น จันทร์ขจร. (2539). สารัตถะสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเรียนการสอน. กรุงเทพฯ:
พัฒนาพานิช.
พัฒนาพานิช.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น