วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์ (http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1_2.htm) การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือที่รู้จักในชื่อเดิมว่า การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (student centered หรือ child centered) เป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่รู้จักกันมานานในวงการศึกษาไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ รวมกับความเคยชินที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลาง (teacher centered) มาตลอด เมื่อเป็นครูก็เคยชินกับการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ที่เคยรู้จัก จึงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญเท่าที่ควร แต่ในยุคของการปฏิรูปการศึกษานี้ได้มีการกำหนดเป็นกฎหมายแล้วว่า ครูทุกคนจะต้องใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญได้ จึงเป็นความจำเป็นที่ครูทุกคนจะต้องให้ความสนใจกับรายละเอียดในส่วนนี้ โดยการศึกษา ทำความเข้าใจ และหาแนวทางมาใช้ในการปฏิบัติงานของตนให้ประสบผลสำเร็จ
แนวคิดจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งกล่าวถึงการจัดการเรียนรู้ ที่ยอมรับว่าบุคคลหรือผู้เรียนมีความแตกต่างกัน และทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูหรือผู้จัดการเรียนรู้ควรมีความเชื่อพื้นฐานอย่างน้อย 3 ประการ คือ
                   1. เชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน
                   2. เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
                   3. เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา
ดังนั้น การจัดการเรียนรู้จึงเป็นการจัดการบรรยากาศ จัดกิจกรรม จัดสื่อ จัดสถานการณ์ ฯลฯ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ ครูจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักผู้เรียนครอบคลุมอย่างรอบด้าน และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปเป็นพื้นฐานการออกแบบหรือวางแผนการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับผู้เรียน สำหรับในการจัดกิจกรรมหรือออกแบบการเรียนรู้ อาจทำได้หลายวิธีการและหลายเทคนิค แต่มีข้อควรคำนึงว่า ในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละเรื่อง ได้เปิดโอกาสให้กับผู้เรียนในเรื่องต่อไปนี้หรือไม่
1. เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจในเนื้อหาสาระที่สนใจ เป็นประโยชน์ต่อตัว ผู้เรียนหรือไม่
2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ โดยได้คิด ได้รวบรวมความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองหรือไม่ ซึ่ง ทิศนา แขมมณี (2543) ได้นำเสนอแนวคิดในการเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้
2.1 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีที่ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย (physical participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัว พร้อมที่จะรับข้อมูลและการเรียนรู้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น การรับรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม แม้จะมีการให้ความรู้ที่ดีๆ ผู้เรียนก็ไม่สามารถรับได้ ดังจะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยให้ผู้เรียนนั่งนานๆ ในไม่ช้าผู้เรียนก็จะหลับหรือคิดเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าให้มีการเคลื่อนไหวทางกายบ้างก็จะทำให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัวและพร้อมที่จะรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี ดังนั้น กิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียน จึงควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมกับวัยและระดับความสนใจของผู้เรียน
2.2 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางสติปัญญา (intellectual participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเคลื่อนไหวทางสติปัญญา ต้องเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความคิดของผู้เรียน สามารถกระตุ้นสมองของผู้เรียนให้เกิดการเคลื่อนไหว ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากหรือง่ายเกินไปทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุกที่จะคิด
2.3 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม (social participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อมต่างๆ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านสังคม
2.4 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางอารมณ์ (emotional participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้นั้นเกิดความหมายต่อตนเองโดยกิจกรรมดังกล่าวควรเกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยตรง โดยปกติการมีส่วนร่วมทางอารมณ์นี้มักเกิดขึ้นพร้อมกับการกระทำอื่นๆอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมทางกาย สติปัญญา และสังคม ทุกครั้งที่ครูให้ผู้เรียนเคลื่อนที่ เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนกิจกรรม ผู้เรียนจะเกิดอารมณ์ ความรู้สึกตามมาด้วยเสมอ อาจเป็นความพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉย ๆ

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (http://active-learning.wu.ac.th/th/detail/10016) ได้รวบรวมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไว้ดังนี้ ความหมายของการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered Approach) หมายถึงกระบวนการจัดการศึกษาที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งมีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน เชื่อมโยง ประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้เข้ากับสังคม มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยสะท้อนจากการที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรายวิชา หรือเลือกทำโครงงานหรือชิ้นงานตามความสนใจในขอบเขตเนื้อหาของวิชานั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน ได้ให้ความหมายของ การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  คือการที่ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง ตั้งแต่การวางแผนจัดระบบระเบียบ ลงมือปฏิบัติ และประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง เป็นการเรียนรู้เชิงรุก ผู้เรียนหาความรู้ได้จากเอกสาร เพื่อน แหล่งความรู้ อาจารย์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน มีกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล มีหลักวิชาการรองรับ สร้างองค์ความรู้และประมวลความรู้ โดยผู้สอนเป็นผู้แนะนำชี้แนะ ให้แหล่งข้อมูลร่วมกัน กำหนดการเรียนการประเมินผลประเด็นการศึกษา
แต่เดิมแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเป็นการยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง (Techer-centered) โดยผู้สอนเป็นผู้กำหนดเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงการบรรยายหน้าชั้นเรียนเท่านั้น ต่อมานักการศึกษาเชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ได้เอื้อต่อเกิดการพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่วิธีการที่ตอบสนองต่อความต้องการหรือลักษณะของผู้เรียน การศึกษาควรให้ความสำคัญกับ การเรียนมากกว่า การสอน

http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126 ได้รวบรวมไว้ว่า แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered, Student-centred หรือ Child-centered) จึงเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนมายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีหลักการว่า กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคมและการประยุกต์ใช้ มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา
สรุปลักษณะของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
(ดัดแปลงจาก อาภรณ์ ใจเที่ยง เข้าถึงได้จาก http://www.sut.ac.th/tedu/news/Teaching.htm)
Active Learning เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเป็นผู้กระทำหรือปฏิบัติด้วยตนเองด้วยความกระตือรือร้น เช่น ได้คิด ค้นคว้า ทดลองรายงาน ทำโครงการ สัมภาษณ์ แก้ปัญหา ฯลฯ ได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ผู้สอนทำหน้าที่เตรียมการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ จัดสื่อสิ่งเร้าเสริมแรงให้คำปรึกษาและสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกัน
Construct เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ค้นพบสาระสำคัญหรือองค์การความรู้ใหม่ด้วยตนเอง อันเกิดจากการได้ศึกษาค้นคว้าทดลอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทำให้ผู้เรียนรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้าเกิดทักษะในการแสวงหาความรู้ เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Learning Man) ที่พึงประสงค์
Resource เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งบุคคลและเครื่องมือทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ผู้เรียนได้สัมผัสและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นมนุษย์ (เช่น ชุมชน ครอบครัว องค์กรต่างๆ) ธรรมชาติและเทคโนโลยี ตามหลักการที่ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานการณ์)
Thinking เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการคิด ผู้เรียนได้ฝึกวิธีคิดในหลายลักษณะ เช่น คิดคล่อง คิดหลากหลาย คิดละเอียด คิดชัดเจน คิดถูก ทางคิดกว้าง คิดลึกซึ้ง คิดไกล คิดอย่างมีเหตุผล เป็นต้น การฝึกให้ผู้เรียนได้คิดอยู่เสมอในลักษณะต่างๆ จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น คิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล มีวิจารณญาณ ในการคิด มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่จะเลือกรับและปฏิเสธข้อมูล ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถแสดงความคิดเห็นออกได้อย่างชัดเจนและมี เหตุผลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
Happiness เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจาก 1) ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนชอบหรือสนใจ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใฝ่รู้ ท้าทาย อยากค้นคว้า อยากแสดงความสามารถและให้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ 2) การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน มีลักษณะเป็นกัลยาณมิตร มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียน
Participation เป็นกิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ตั้งแต่การวางแผนกำหนดงาน วางเป้าหมายร่วมกัน และมีโอกาสเลือกทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ตรงกับความถนัดความสามารถ ความสนใจ ของตนเอง ทำให้ผู้เรียนเรียนด้วยความกระตือรือร้น มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนและสามารถ ประยุกต์ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง
Individualization เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนในความเป็นเอกัตบุคคล ผู้สอนต้องยอมรับในความสามารถ ความคิดเห็น ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน มุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพมากกว่าเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างกันโดยมีความเชื่อมั่นผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ และมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
Good Habit เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีงาม เช่น ความรับผิดชอบ ความเมตตา กรุณา ความมีน้ำใจ ความขยัน ความมีระเบียบวินัย ความเสียสละ ฯลฯ และ ลักษณะนิสัยในการทำงานอย่างเป็นกระบวนการการทำงานร่วมกับผู้อื่น การยอมรับผู้อื่น และ การเห็นคุณค่าของงาน เป็นต้น
Self Evaluation เป็นกิจกรรมที่เน้นการประเมินตนเอง เดิมผู้สอนเป็นผู้ประเมินฝ่ายเดียว แต่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองได้ชัดเจนขึ้น รุ้จุดเด่นจุดด้อยและพร้อมที่จะปรับปรุงหรือพัฒนาตนเองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การประเมินในส่วนนี้เป็นการประเมินตามสภาพจริงและอาจใช้แฟ้มสะสมผลงานช่วย

สรุป
การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ และพัฒนาความรู้ได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งสนับสนุนให้มีการฝึกและปฏิบัติในสภาพจริงของการทำงาน มีการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับสังคมและการประยุกต์ใช้ มีการจัดกิจกรรมและกระบวนการให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยไม่เน้นไปที่การท่องจำเพียงเนื้อหา

ที่มา
นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์. [Online]. (http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1_2.htm). การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558.
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. [Online]. (http://active-learning.wu.ac.th/th/detail/10016). แนวคิดในการกำหนดคำนิยามของการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558.
http://www.agri.kmitl.ac.th/km/knowledge/?p=126. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558.

การเรียนรู้แบบเรียนรวม

http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10 ได้รวบรวมไว้ว่า การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษและเด็กปกติคือ จะต้องถือหลักการดังนี้
เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด

                ฉวีวรรณ โยคิน (http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177) การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การจัดการเรียนการสอนที่ยึดปรัชญาของการอยู่รวมกัน (Inclusion) เป็นหลัก นั่น คือ การสอนที่ดี เป็นการสอนที่ครูกับนักเรียนช่วยกันให้ทุกคนเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน โดยการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้กับชุมชนและโรงเรียน การอยู่รวมกันจึงมีความหมายรวมไปถึงกิจกรรมทุกชนิดที่จะนำไปสู่การสอนที่ดี (Good Teaching) ซึ่งเป็นการคิดอย่างรอบคอบเพื่อหาหนทางให้นักเรียนทุกคนสามารถเรียนได้เป็นการกำหนดทางเลือกหลายๆ ทาง (Wilson , Kliewer, East, 2007) จากความหมายดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า การเรียนรวม เป็นแนวคิดทางการศึกษาอย่างหนึ่งที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กปกติ หรือเด็กคนใดเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กทุกคนที่ผู้ปกครองพาเข้ามาโรงเรียนทางโรงเรียนจะต้องรับเด็กไว้ และจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม และดำเนินการเรียนในลักษณะ รวมกันที่ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคม ทุกคนยอมรับซึ่งกันและกัน ทุกคนยอมรับว่ามี ผู้พิการ อยู่ในสังคมและเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับคนปกติ โดยไม่มีการแบ่งแยก การเรียนรวมยังแบ่งออกเป็นการเรียนเต็มเวลา และการเรียนรวมบางเวลา การเรียนรวมเต็มเวลา (Full Inclusion) หมายถึง การให้เข้าเรียนในชั้นเรียนรวมตลอดทั้งวันเช่นเดียวกับการมาโรงเรียนตามปกติของนักเรียนทั้งหลาย การเรียนรวมบางเวลา (Partial Inclusion) หมายถึง การให้เด็กเข้าเรียนในชั้นเรียนรวมในบางชั่วโมงของ 1 วัน หรือ บางชั่วโมงของเวลาเรียนใน 1 สัปดาห์ เป็นการเข้าเรียนไม่เต็มเวลาของการเรียนปกติ

                http://web.nrru.ac.th/web/special_edu/1-1.html ได้รวบรวมไว้ว่า ในระบบการจัดการศึกษาแต่เดิมจะจัดรูปแบบเดียว คือ การศึกษาปกติทั่วไป (Regular Education) ซึ่งแต่เดิมไม่ได้มีคนคำนึงถึงเด็กพิการหรือเด็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในระบบปกติทั่วไป แต่ต่อมามีกลุ่มเด็กพิการที่นักการศึกษาเห็นว่าสามารถให้การศึกษาได้ จึงได้จัดเป็นโรงเรียนพิเศษเฉพาะความพิการให้กับกลุ่มเด็กพิการเหล่านั้น จึงได้มีกำเนิดการศึกษาพิเศษ (Special Education) ขึ้น เมื่อจัดการศึกษาพอเศษให้เป็นระยะเวลาหนึ่ง มีกลุ่มนักการศึกษาได้พิจารณาเห็นว่า เด็กพิการกลุ่มหนึ่งสามารถพัฒนาได้มาก ได้มีการทดลองให้เด็กพิการเข้าไปเรียนร่วมในโรงเรียนทั่วไป และเกิดวิธีการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม เรียกว่า การเรียนร่วม (Integrated Education หรือ Mainstreaming)
                 จากคำจำกัดความของการเรียนร่วมและแนวทางการจัดการเรียนร่วมนี้ มีประเด็นสาระสำคัญอยู่ 2 ประเด็ก คือ
                ข้อที่ 1 โรงเรียนการศึกษาพิเศษ ต้องเตรียมเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้พร้อมที่จะเข้าเรียนร่วมได้ หมายถึง เด็กจะต้องมีพัฒนาการเท่าเทียมกับเด็กปกติทั่วไปทุกประการจึงจะได้รับโอกาสให้เข้าเรียนร่วมโดยทางโรงเรียนจะมองว่า เด็กมีปัญหาจึงต้องปรับและเตรียมที่เด็ก
ข้อที่ 2 โรงเรียนและชั้นเรียนปกติทั่วไปไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน หลักสูตร เทคนิคการสอน การประเมิน ฯลฯ โรงเรียนเพียงแต่จัดบริการสนับสนุนช่วยเหลือเพิ่มเติม ฉะนั้นหากเด็กได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ผู้บริการและครูเข้าใจก็๗ะได้รับโอกาสให้เข้าเรียนร่วมและได้รับการสนับสนุน แต่หากเด็กไปเข้าเรียนในโรงเรียนที่ผู้บริหารและครูไม่เข้าใจ เด็กก็จะขาดโอกาสที่จะไดรับการสนับสนุนช่วยเหลือให้สามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ได้สูง
                การศึกษาแบบเรียนรวม คือ การศึกษาสำหรับทุกคนโดยรับเข้ามาเรียนรวมกัน ตั้งแต่เริ่มเข้ารับการศึกษาและจัดให้มีบริการพิเศษตามความต้องการของแต่ละบุคคล และยังให้คำจำกัดคามเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารกับประเทศต่างๆ ไว้ดังนี้ "Inclusive Education is Education for all, It involves receiving people at the beginning of their education, with provision of additional services needed by each individual"

                สรุป
การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นการจัดการศึกษาภายใต้ปรัชญาที่เห็นทุกคนมีค่าเท่าเทียมกัน  ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน  เด็กทุกคนสามารถเรียนร่วมกันได้  โรงเรียนต้องรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดพิการเด็กคนใดปกติเด็กทุกคนจะเรียนด้วยกัน  ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยไม่มีการแบ่งแยก  โรงเรียนจะมีการเตรียมครู  การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเรียน  การจัดสื่อ  สิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างทั่วถึง

ที่มา
http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10. การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม. เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558.
ฉวีวรรณ โยคิน. [Online]. (http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177). การศึกษาแบบเรียนรวม. เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558 .
http://web.nrru.ac.th/web/special_edu/1-1.htmlความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนรวม.  เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558.

การประเมินผลการเรียนรู้

นางสาวเอเลน คอร์นิช และดอกเตอร์ ดอน ดับบลิว จอร์แดน (http://sclthailand.org/Th/2012/06/what-can-this-student-say-write-or-create-to-show-me-they-understand-what-they-have-been-learning/) ได้กล่าวไว้ว่า  การประเมินผลนักเรียนเป็นวิธีการที่มีความสำคัญสำหรับการเรียนและการสอนในชั้นเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเป็นตัวช่วยในการสอนเพื่อความเข้าใจสำหรับครู และเป็นโอกาสให้นักเรียนได้แสดงให้เห็นการเรียนรู้ของพวกเขา การประเมินนักเรียนมีหลายวิธี ตั้งแต่การประเมินโดยหน่วยงานกลางไปจนถึงการทดสอบที่ครูออกแบบเองเพิ่มเติมขึ้นมาให้เหมาะสมกับสิ่งที่นักเรียนกำลังศึกษา บทความนี้ไม่ได้จะกล่าวถึงวิธีการประเมินในรูปแบบต่างๆ แต่เป็นการแสดงความเห็นถึงวิธีการประเมินที่พวกเราใช้อยู่ในชั้นเรียนที่ทาสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย
วิธีการประเมินที่เหมาะสมสามารถมีได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงการใช้ตำราเรียน การนำเสนอภาพนิ่ง การอภิปรายกลุ่มหรืออื่นๆ เราพบว่าวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีคือจินตนาการถึงความสำเร็จที่นักเรียนจะแสดงให้เห็นในทางที่พวกเขาเลือก ความคิดและการเรียนรู้ที่เราหวังจะได้เห็นจากพวกเขา ทางที่มีประสิทธิภาพ อธิบายไว้อย่างดีโดย แอน รีฟส์ ( 2011) คือการมโนภาพผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จและถามว่า นักเรียนคนนี้จะสามารถพูด เขียน หรือสร้างสรรค์บางอย่างเพื่อแสดงถึงความเข้าใจในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไร? สามารถตอบคำถามอะไรได้? สามารถทำงานอะไรได้บ้าง?”
เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องสร้างระบบห้องเรียนและแผนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนของเราได้แสดงออกถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ในแบบที่พวกเขาเลือก ตามความสนใจและความสามารถ นี่รวมไปถึงการทดสอบตามตำราหรือการแสดงศิลปะและการละคร หรือการแสดงความคิดเห็นกับอาจารย์หรือเพื่อนร่วมชั้น เราใช้ทฤษฎีพหุปัญญาของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (1983) เป็นหลักในการประเมินของเราและเพื่อเป็นกรอบกว้างๆที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่านักเรียนของเรามีข้อดีแตกต่างกัน เรียนรู้ในวิธีการที่หลากหลายต่างกัน
การ์ดเนอร์ขยายการวัดระกับความรู้แบบดั้งเดิมจากความรู้ทางวิชาการด้านภาษาและตรรกะวิชาทางคณิตศาสตร์ (IQ test) มาเป็นรวมไปถึงด้านมิติสัมพันธ์, ภาพ, ดนตรี, การเคลื่อนไหวของร่างกาย, มนุษยสัมพันธ์, การสื่อสารกับตัวเอง และธรรมชาติวิทยา หมายถึงว่านักเรียนอาจใช้สิ่งเหล่านี้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของความฉลาดในการคิดตรรกะที่สูงขึ้นและเพื่อแก้ปัญหา
ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่มีความสามารถทางภาษาอาจสร้างสรรค์ผลงานด้านการเขียนแต่อาจมีข้อติดขัดในงานที่ต้องอาศัยความรู้ขั้นสูงด้านมิติสัมพันธ์ เราให้โอกาสนักเรียนของเราที่จะพัฒนาความรู้และความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาผ่านตัวเลือกต่างๆที่มีให้ เช่นศิลปะ, งานหัตถกรรม ฯลฯ และมีครูเป็นผู้ดูแล นี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับเราที่จะดึงดูดนักเรียนให้เรียนรู้ โดยการให้โอกาสพวกเขาได้พัฒนาพหุปัญญาของพวกเขา เรามั่นใจว่าทางเลือกต่างๆดังกล่าวอยู่ใต้การดูแลของเรา จึงมั่นใจว่านักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่พัฒนาความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนของเราได้รับความรู้ที่เพิ่มขึ้นโดยการเข้าร่วมกิจกรรมในระดับที่สูงขึ้นเราใช้ระบบโครงสร้างที่สร้างโดยเบนจามิน บลูม
บลูม(1956) กำหนดระดับขั้นของความเข้าใจไว้หกระดับ ตั้งแต่การจำหรือรับรู้ข้อมูลอันเป็นลำดับต่ำสุด ไปสู่ระดับที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นและอาศัยการทำงานของสมองมากขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุดซึ่งคือการประเมินผลและการสร้างสรรค์ หกระดับตามหลักของบลูมประกอบด้วย
1. ความจำ ความสามารถในการจำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มา  ด้วยการ นิยาม, จับคู่, เลือก, จำแนก, บอกคุณลักษณะ, บอกชื่อ, ให้แสดงรายชื่อ, บอกความสัมพันธ์
2. ความเข้าใจ          ความสามารถในการแปลความ ขยายความ และเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา   แปลความหมาย, เปลี่ยนแปลงใหม่, แสดง, ยกตัวอย่าง, อธิบาย, อ้างอิง, สรุป, บอก, รายงาน, บรรยาย, กำหนดขอบเขต, ฯลฯ
3. การนำไปใช้          ความสามารถในการใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้มาเป็นวัตถุดิบก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ประยุกต์ใช้, จัดกระทำใหม่, แก้ปัญหา, จัดกลุ่ม, นำไปใช้, เลือก, ทำโครงร่าง, ฝึกหัด, คำนวณ, ฯลฯ
4. การวิเคราะห์        ความสามารถในการแยกความรู้ออกเป็นส่วนแล้วทำความเข้าใจในแต่ละส่วนว่าสัมพันธ์คือแตกต่างกันอย่างไร จำแนก, จัดกลุ่ม, เปรียบเทียบ, สรุปย่อ, บอกความแตกต่าง, อธิบาย, วิเคราะห์, แยกส่วน, ทดสอบ, สำรวจ, ตั้งคำถาม, ตรวจสอบ, อภิปราย, ฯลฯ
5. การประเมิน         ความสามารถในการตัดสินคุณค่าอย่างมีเหตุมีผลตั้งราคา, ตัดสินคุณค่า, พิจารณา, สรุป, ประเมิน, ให้น้ำหนัก, กำหนดเกณฑ์, การเปรียบเทียบ, แก้ไข, ปรับปรุง, ให้คะแนน
6. การสังเคราะห์     ความสามารถในการรวมความรู้ต่าง ๆ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดเป็นสิ่งแปลกใหม่           การออกแบบ, วางแผน, การแก้ปัญหา, การผลิต, การสร้างสูตร, ฯลฯ
เพื่อจะสามารถให้นักเรียนได้พัฒนาความเข้าใจของตน

                เอกศักดิ์ บุตรลับ (2537 : 389 – 395) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้
การประเมินผล (Evaluation)
            กรมสามัญศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ (2522 : 1)  ให้ความหมายไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด
            บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2521 :6) กล่าวว่า การประเมินผลเป็นกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล และวินิจฉัย ตัดสิน สรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์
            เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล กรีแสง (2517 : 7) ให้ความหมายการประเมินผลเป็นการใช้   วิจารณญาณตัดสินคุณค่า โดยอาศัยการวัดผลเป็นเครื่องช่วย
            สรุปได้ว่า การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน สอบได้หรือสอบตก เป็นต้น
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา  
            ในการวัดผลและประเมินผลการศึกษานั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ (ลำพอง บุญช่วย ม.ป.ป. : 214-215)
            1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion) การพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียน ต้องอาศัยการวัดผลและประเมินผลกรรมเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด
            2. เพื่อจำแนกบุคคล (Classification) การจำแนกบุคคลออกเป็นพวกเก่งอ่อน สอบได้ สอบตก หรือการให้เกรดเป็น A B C D E ก็ต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลทั้งสิ้น
            3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis) การวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้ครูสามารถวินิจฉัยได้ว่า เด็กคนใดเก่ง อ่อนด้านใด ซึ่งทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆได้
            4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า (Assessment) การที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใดนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลเป็นเครื่องชี้ โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู ก็จะทำให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนได้
            5. เพื่อทำนาย (Prediction) การวัดผลและประเมินผลช่วยให้ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาประกอบในการพิจารราว่า นักเรียนคนใดควรเรียนอะไร ได้ดีในอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการแนะแนวเป็นอย่างยิ่ง
            6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้ (Motivating Learning) การวัดผลและประเมินผลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน เกิดความพยายาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทดสอบแล้ว ผู้เรียนได้ทราบผลการสอบของตนย่อมทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
            7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู (Evaluation of Treatment) การวัดผลและประเมินผลที่ดีจะต้องวัดผลทั้งตัวผู้เรียนและตัวครู ทั้งนี้เพราะการที่ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ อาจเกิดจากวิธีการสอนของครูที่ใช้ไม่ดี วัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ดังนั้นการวัดผลและประเมินผลวิธีการสอนของครูจึงมีความจำเป็น
            8. เพื่อรักษามาตรฐาน (Maintaining Standard) ในการผลิตกำลังคนของสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการอันหนึ่งที่จะใช้ในการรักษามาตรฐานก็ได้แก่ การวัดผลและประเมินผลนั่นเอง
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
            การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ (กรมสามัญศึกษา 2522 :8)
            1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน ผลที่ได้จากกระบวนการวัดผลและประเมินผล จะเป็นข้อมูลย้อนกลับที่นำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
            2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว ปกตินักเรียนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่อ การเลือกอาชีพ และปัญหาส่วนตัวอยู่เสมอ ซึ่งการวัดผลจะช่วยในเรื่องนี้ได้ ด้วยการใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆ
            3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร การประเมินผลการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า ควรจะแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารงานของสถานศึกษาอย่างไร
            4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย การวิจัยในด้านการเรียนการสอน การแนะแนวและการบริหาร ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการวัดผลและประเมินผล หรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้ด้วย
ประเภทของการประเมินผล
การจำแนกประเภทของการประเมินผลนั้น จะจำแนกออกเป็นกี่ประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง โดยทั่วๆ ไปแล้วมีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์
            1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น
                        1.1 การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
                        1.2 การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
            2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น
                       2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)
                ความหมายของการวัดผล กับการประเมินผล
ความหมายของการวัดผล (measurement)
การวัดผล หมายถึง กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลข หรือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะ หรือคุณภาพของสิ่งที่วัด โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหารายละเอียดสิ่งที่วัดว่ามีจำนวนหรือปริมาณเท่าใด เช่น การวัดส่วนสูงของเด็กเป็นการแปลงคุณลักษณะด้านความสูงออกมาเป็นตัวเลขว่าสูงกี่เซนติเมตรหรือนักเรียนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 20 คะแนน ก็เป็นการแปลงคุณภาพด้านความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นตัวเลข โดยใช้แบบทดสอบ เป็นต้น

                 ภูมิชนะ เกิดพงษ์ (https://www.gotoknow.org/posts/181202) ได้รวบรวมความหมายของการประเมินผล(evaluation)  ไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
           การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
            5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด  จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
 ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ (อนันต์ ศรีโสภา. 2522 : 1-2)
1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย            
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7) ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก

                สรุป
การประเมินผลการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการพิจารณาตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้จากการวัดผล ซึ้งในการประเมินผลการเรียนรู้ทำให้ทราบข้อบกพร่องในการเรียนการสอน จะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

ที่มา
เอกศักดิ์  บุตรลับ. (2537).  ครูและการสอน.  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  เพชรบุรี : สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.
ภูมิชนะ เกิดพงษ์.[Online]. (https://www.gotoknow.org/posts/181202). การวัดผล กับการประเมินผล คืออะไร. เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558.