วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

นางสาวเอเลน คอร์นิช และดอกเตอร์ ดอน ดับบลิว จอร์แดน (http://sclthailand.org/Th/2012/06/what-can-this-student-say-write-or-create-to-show-me-they-understand-what-they-have-been-learning/) ได้กล่าวไว้ว่า  การประเมินผลนักเรียนเป็นวิธีการที่มีความสำคัญสำหรับการเรียนและการสอนในชั้นเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อเป็นตัวช่วยในการสอนเพื่อความเข้าใจสำหรับครู และเป็นโอกาสให้นักเรียนได้แสดงให้เห็นการเรียนรู้ของพวกเขา การประเมินนักเรียนมีหลายวิธี ตั้งแต่การประเมินโดยหน่วยงานกลางไปจนถึงการทดสอบที่ครูออกแบบเองเพิ่มเติมขึ้นมาให้เหมาะสมกับสิ่งที่นักเรียนกำลังศึกษา บทความนี้ไม่ได้จะกล่าวถึงวิธีการประเมินในรูปแบบต่างๆ แต่เป็นการแสดงความเห็นถึงวิธีการประเมินที่พวกเราใช้อยู่ในชั้นเรียนที่ทาสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย
วิธีการประเมินที่เหมาะสมสามารถมีได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงการใช้ตำราเรียน การนำเสนอภาพนิ่ง การอภิปรายกลุ่มหรืออื่นๆ เราพบว่าวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีคือจินตนาการถึงความสำเร็จที่นักเรียนจะแสดงให้เห็นในทางที่พวกเขาเลือก ความคิดและการเรียนรู้ที่เราหวังจะได้เห็นจากพวกเขา ทางที่มีประสิทธิภาพ อธิบายไว้อย่างดีโดย แอน รีฟส์ ( 2011) คือการมโนภาพผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จและถามว่า นักเรียนคนนี้จะสามารถพูด เขียน หรือสร้างสรรค์บางอย่างเพื่อแสดงถึงความเข้าใจในงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไร? สามารถตอบคำถามอะไรได้? สามารถทำงานอะไรได้บ้าง?”
เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องสร้างระบบห้องเรียนและแผนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนของเราได้แสดงออกถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ ในแบบที่พวกเขาเลือก ตามความสนใจและความสามารถ นี่รวมไปถึงการทดสอบตามตำราหรือการแสดงศิลปะและการละคร หรือการแสดงความคิดเห็นกับอาจารย์หรือเพื่อนร่วมชั้น เราใช้ทฤษฎีพหุปัญญาของโฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (1983) เป็นหลักในการประเมินของเราและเพื่อเป็นกรอบกว้างๆที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่านักเรียนของเรามีข้อดีแตกต่างกัน เรียนรู้ในวิธีการที่หลากหลายต่างกัน
การ์ดเนอร์ขยายการวัดระกับความรู้แบบดั้งเดิมจากความรู้ทางวิชาการด้านภาษาและตรรกะวิชาทางคณิตศาสตร์ (IQ test) มาเป็นรวมไปถึงด้านมิติสัมพันธ์, ภาพ, ดนตรี, การเคลื่อนไหวของร่างกาย, มนุษยสัมพันธ์, การสื่อสารกับตัวเอง และธรรมชาติวิทยา หมายถึงว่านักเรียนอาจใช้สิ่งเหล่านี้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของความฉลาดในการคิดตรรกะที่สูงขึ้นและเพื่อแก้ปัญหา
ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่มีความสามารถทางภาษาอาจสร้างสรรค์ผลงานด้านการเขียนแต่อาจมีข้อติดขัดในงานที่ต้องอาศัยความรู้ขั้นสูงด้านมิติสัมพันธ์ เราให้โอกาสนักเรียนของเราที่จะพัฒนาความรู้และความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาผ่านตัวเลือกต่างๆที่มีให้ เช่นศิลปะ, งานหัตถกรรม ฯลฯ และมีครูเป็นผู้ดูแล นี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับเราที่จะดึงดูดนักเรียนให้เรียนรู้ โดยการให้โอกาสพวกเขาได้พัฒนาพหุปัญญาของพวกเขา เรามั่นใจว่าทางเลือกต่างๆดังกล่าวอยู่ใต้การดูแลของเรา จึงมั่นใจว่านักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่พัฒนาความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนของเราได้รับความรู้ที่เพิ่มขึ้นโดยการเข้าร่วมกิจกรรมในระดับที่สูงขึ้นเราใช้ระบบโครงสร้างที่สร้างโดยเบนจามิน บลูม
บลูม(1956) กำหนดระดับขั้นของความเข้าใจไว้หกระดับ ตั้งแต่การจำหรือรับรู้ข้อมูลอันเป็นลำดับต่ำสุด ไปสู่ระดับที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นและอาศัยการทำงานของสมองมากขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุดซึ่งคือการประเมินผลและการสร้างสรรค์ หกระดับตามหลักของบลูมประกอบด้วย
1. ความจำ ความสามารถในการจำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มา  ด้วยการ นิยาม, จับคู่, เลือก, จำแนก, บอกคุณลักษณะ, บอกชื่อ, ให้แสดงรายชื่อ, บอกความสัมพันธ์
2. ความเข้าใจ          ความสามารถในการแปลความ ขยายความ และเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา   แปลความหมาย, เปลี่ยนแปลงใหม่, แสดง, ยกตัวอย่าง, อธิบาย, อ้างอิง, สรุป, บอก, รายงาน, บรรยาย, กำหนดขอบเขต, ฯลฯ
3. การนำไปใช้          ความสามารถในการใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้มาเป็นวัตถุดิบก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ประยุกต์ใช้, จัดกระทำใหม่, แก้ปัญหา, จัดกลุ่ม, นำไปใช้, เลือก, ทำโครงร่าง, ฝึกหัด, คำนวณ, ฯลฯ
4. การวิเคราะห์        ความสามารถในการแยกความรู้ออกเป็นส่วนแล้วทำความเข้าใจในแต่ละส่วนว่าสัมพันธ์คือแตกต่างกันอย่างไร จำแนก, จัดกลุ่ม, เปรียบเทียบ, สรุปย่อ, บอกความแตกต่าง, อธิบาย, วิเคราะห์, แยกส่วน, ทดสอบ, สำรวจ, ตั้งคำถาม, ตรวจสอบ, อภิปราย, ฯลฯ
5. การประเมิน         ความสามารถในการตัดสินคุณค่าอย่างมีเหตุมีผลตั้งราคา, ตัดสินคุณค่า, พิจารณา, สรุป, ประเมิน, ให้น้ำหนัก, กำหนดเกณฑ์, การเปรียบเทียบ, แก้ไข, ปรับปรุง, ให้คะแนน
6. การสังเคราะห์     ความสามารถในการรวมความรู้ต่าง ๆ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ให้เกิดเป็นสิ่งแปลกใหม่           การออกแบบ, วางแผน, การแก้ปัญหา, การผลิต, การสร้างสูตร, ฯลฯ
เพื่อจะสามารถให้นักเรียนได้พัฒนาความเข้าใจของตน

                เอกศักดิ์ บุตรลับ (2537 : 389 – 395) ได้รวบรวมเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนรู้ไว้ดังนี้
การประเมินผล (Evaluation)
            กรมสามัญศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ (2522 : 1)  ให้ความหมายไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดว่า เป็นที่ต้องประสงค์หรือมีค่านิยมถูกต้องหรือไม่มากน้อยเพียงใด การประเมินผลจำเป็นต้องมีเป้าหมายหรือเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว จึงนำข้อมูลที่ได้จากการวัดนั้นมาประเมินในทิศทางตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด
            บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์ (2521 :6) กล่าวว่า การประเมินผลเป็นกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล และวินิจฉัย ตัดสิน สรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดอย่างมีหลักเกณฑ์
            เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และอเนกกุล กรีแสง (2517 : 7) ให้ความหมายการประเมินผลเป็นการใช้   วิจารณญาณตัดสินคุณค่า โดยอาศัยการวัดผลเป็นเครื่องช่วย
            สรุปได้ว่า การประเมินผลเป็นขบวนการพิจารณาตัดสินใจในข้อมูลที่ได้จากการวัดผลว่า สิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน สอบได้หรือสอบตก เป็นต้น
จุดประสงค์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา  
            ในการวัดผลและประเมินผลการศึกษานั้น มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้ (ลำพอง บุญช่วย ม.ป.ป. : 214-215)
            1. เพื่อการคัดเลือก (Selecion) การพิจารณารับนักเรียนเข้าเรียน ต้องอาศัยการวัดผลและประเมินผลกรรมเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด
            2. เพื่อจำแนกบุคคล (Classification) การจำแนกบุคคลออกเป็นพวกเก่งอ่อน สอบได้ สอบตก หรือการให้เกรดเป็น A B C D E ก็ต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลทั้งสิ้น
            3. เพื่อวินิจฉัย (Diagnosis) การวัดผลและประเมินผลจะช่วยให้ครูสามารถวินิจฉัยได้ว่า เด็กคนใดเก่ง อ่อนด้านใด ซึ่งทำให้มองเห็นวิธีแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆได้
            4. เพื่อประเมินความก้าวหน้า (Assessment) การที่จะทราบได้ว่าผู้เรียนมีความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมไปจากเดิมหรือไม่ เพียงใดนั้น จำเป็นต้องอาศัยการวัดผลประเมินผลเป็นเครื่องชี้ โดยมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดู ก็จะทำให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนได้
            5. เพื่อทำนาย (Prediction) การวัดผลและประเมินผลช่วยให้ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาประกอบในการพิจารราว่า นักเรียนคนใดควรเรียนอะไร ได้ดีในอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการแนะแนวเป็นอย่างยิ่ง
            6. เพื่อจูงใจในการเรียนรู้ (Motivating Learning) การวัดผลและประเมินผลเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียน เกิดความพยายาม โดยเฉพาะเมื่อมีการทดสอบแล้ว ผู้เรียนได้ทราบผลการสอบของตนย่อมทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน
            7. เพื่อประเมินวิธีการสอนของครู (Evaluation of Treatment) การวัดผลและประเมินผลที่ดีจะต้องวัดผลทั้งตัวผู้เรียนและตัวครู ทั้งนี้เพราะการที่ผู้เรียนไม่ประสบความสำเร็จ อาจเกิดจากวิธีการสอนของครูที่ใช้ไม่ดี วัสดุอุปกรณ์ไม่เหมาะสม ดังนั้นการวัดผลและประเมินผลวิธีการสอนของครูจึงมีความจำเป็น
            8. เพื่อรักษามาตรฐาน (Maintaining Standard) ในการผลิตกำลังคนของสถาบันต่างๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพ วิธีการอันหนึ่งที่จะใช้ในการรักษามาตรฐานก็ได้แก่ การวัดผลและประเมินผลนั่นเอง
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน
            การวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นกระบวนการที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ (กรมสามัญศึกษา 2522 :8)
            1. การประเมินผลช่วยการตัดสินใจในด้านการเรียนการสอน ผลที่ได้จากกระบวนการวัดผลและประเมินผล จะเป็นข้อมูลย้อนกลับที่นำมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน
            2. การประเมินผลช่วยตัดสินใจในด้านการแนะแนว ปกตินักเรียนมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาต่อ การเลือกอาชีพ และปัญหาส่วนตัวอยู่เสมอ ซึ่งการวัดผลจะช่วยในเรื่องนี้ได้ ด้วยการใช้แบบทดสอบชนิดต่างๆ
            3. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการบริหาร การประเมินผลการเรียนการสอนจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่า ควรจะแก้ไขปรับปรุงกลไกการบริหารงานของสถานศึกษาอย่างไร
            4. การประเมินผลช่วยตัดสินใจด้านการวิจัย การวิจัยในด้านการเรียนการสอน การแนะแนวและการบริหาร ย่อมต้องอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการวัดผลและประเมินผล หรือเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในงานวิจัยได้ด้วย
ประเภทของการประเมินผล
การจำแนกประเภทของการประเมินผลนั้น จะจำแนกออกเป็นกี่ประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง โดยทั่วๆ ไปแล้วมีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งประเภทของการประเมินผลอยู่ 2 เกณฑ์
            1. จุดประสงค์ของการประเมินผล แบ่งออกได้เป็น
                        1.1 การประเมินผล เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน (Formative Evaluation)
                        1.2 การประเมิล เพื่อตัดสินผลการเรียน (Summative Evaluation)
            2. จำแนกตามระบบการวัดผล แบ่งออกได้เป็น
                       2.1 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation)
2.2 การประเมินผลแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation)
                ความหมายของการวัดผล กับการประเมินผล
ความหมายของการวัดผล (measurement)
การวัดผล หมายถึง กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลข หรือสัญลักษณ์ ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะ หรือคุณภาพของสิ่งที่วัด โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพหารายละเอียดสิ่งที่วัดว่ามีจำนวนหรือปริมาณเท่าใด เช่น การวัดส่วนสูงของเด็กเป็นการแปลงคุณลักษณะด้านความสูงออกมาเป็นตัวเลขว่าสูงกี่เซนติเมตรหรือนักเรียนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 20 คะแนน ก็เป็นการแปลงคุณภาพด้านความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ออกมาเป็นตัวเลข โดยใช้แบบทดสอบ เป็นต้น

                 ภูมิชนะ เกิดพงษ์ (https://www.gotoknow.org/posts/181202) ได้รวบรวมความหมายของการประเมินผล(evaluation)  ไว้ว่า การประเมินผล หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
           การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
            5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด  จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
 ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ (อนันต์ ศรีโสภา. 2522 : 1-2)
1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย            
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7) ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก

                สรุป
การประเมินผลการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการพิจารณาตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้จากการวัดผล ซึ้งในการประเมินผลการเรียนรู้ทำให้ทราบข้อบกพร่องในการเรียนการสอน จะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

ที่มา
เอกศักดิ์  บุตรลับ. (2537).  ครูและการสอน.  (พิมพ์ครั้งที่ 2).  เพชรบุรี : สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.
ภูมิชนะ เกิดพงษ์.[Online]. (https://www.gotoknow.org/posts/181202). การวัดผล กับการประเมินผล คืออะไร. เข้าถึงเมื่อ 6 กันยายน 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น